พุทธประกันภัย

พุทธประกันภัย

ปิยเมธี

 

ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว และอื่นๆ เป็นยอดปรารถนาของคนทั้งหลาย ทำให้มนุษย์พยายามคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และเครื่องอำนวยความสะดวกหลายหลาก เพื่อความปลอดภัย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาทั่วโลก จะมีสิ่งป้องกันภัยและอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีระบบเตือนภัยธรรมชาติที่ดีเยี่ยมจนสามารถรู้ได้ล่วงหน้าหลายวันชั่วโมงต่อชั่วโมงว่า ภายในอาทิตย์นี้ฝนจะตก แดดจะออกจนคนที่จะออกไปทำธุระนอกบ้านสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับดินฟ้าอากาศได้
ถึงแม้ประเทศที่พัฒนาเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ใช่ว่าจะมีความปลอดภัยในชีวิตอย่างเต็มที่ เพราะภัยต่างๆ ใช่ว่าจะเกิดจากมนุษย์เองเท่านั้น ยังมีภัยธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ สามารถกะเกณฑ์เตรียมรับมือได้ จึงเห็นว่ามีบริษัทประกันภัยผุดขึ้นมากมาย เช่น บริษัทประกันชีวิต สุขภาพ บ้าน รถยนต์ ทรัพย์สิน และธุรกิจ เป็นต้น บริษัทประกันภัยเหล่านั้นต่างต้องเสียเงินทองในการทำประกันโดยจ่ายเป็นรายเดือน รายปี ซึ่งคนที่ทำประกันภัยต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สิน และครอบครัวของตนเอง
เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน พระพุทธเจ้าก็ทรงวางหลักประกันภัยไว้เหมือนกัน เรียกว่า พุทธประกันภัย เป็นระบบประกันภัยที่ต่างจากประกันภัยในปัจจุบัน คือ ไม่ต้องลงทุน ลงเงิน แต่มีระเบียบปฏิบัติว่าต้องลงแรง ลงมือกระทำ มีวินัยงดเว้น ละเว้นบางสิ่งบางประการ โดยมีระเบียบปฏิบัติในการทำประกันภัยด้านต่างๆ และผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันจะได้รับ ดังนี้

๑.ประกันภัยชีวิต
มีระเบียบการชำระประกันภัยด้วยการไม่เบียดเบียนทำลายสิ่งมีชีวิต โดยต้องถือปฏิบัติตลอดชีวิต ผลประโยชน์ที่จะได้กรณียังมีชีวิตอยู่ คือ มีสุขภาพแข็งแรง หน้าตาผ่องใส อายุยืน ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นที่รักของคนและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีๆ มีมนุษย์และสวรรค์ เป็นต้น

๒.ประกันทรัพย์สิน
มีระเบียบการชำระประกันภัยด้วยการไม่ปล่อยให้ความโลภครอบงำหยิบจับเอาวัตถุสิ่งของที่ไม่ใช่ของๆ ตน ต้องถือปฏิบัติตลอดชีวิต ผลประโยชน์ที่จะได้กรณียังมีชีวิตอยู่ คือ ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทรัพย์สมบัติปลอดภัย ไม่ถูกเบียดบัง หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีๆ มีมนุษย์และสวรรค์ เป็นต้น

๓.ประกันครอบครัว
มีระเบียบชำระประกันภัยด้วยการเคารพรักเพศตรงข้ามและเพศเดียวกันเสมอเหมือนญาติของตนเอง ต้องถือปฏิบัติตลอดชีวิต ผลประโยชน์ที่จะได้กรณียังมีชีวิตอยู่ คือ ครอบครัวมั่นคง มีความสุข ปลอดภัยจากโรคร้าย ต่างๆ เป็นต้นว่า HIV หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีๆ มีมนุษย์และสวรรค์ เป็นต้น

๔.ประกันเครดิต
มีระเบียบชำระประกันภัยด้วยการมีสติ มีเมตตาในการพูดจาให้ไพเราะ ดี มีประโยชน์กับทุกๆ คน ต้องถือปฏิบัติตลอดชีวิต ผลประโยชน์ที่จะได้รับกรณียังมีชีวิตอยู่ คือ มีเครดิต มีเสน่ห์ พูดอะไรมีคนเคารพรักเชื่อถือ หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีๆ มีมนุษย์และสวรรค์ เป็นต้น
๕.ประกันสุขภาพ
มีระเบียบชำระประกันภัยด้วยการงดเว้นจากการดื่มเครื่องดองของมึนเมาต่างๆ ที่เป็นเหตุให้ประมาทขาดสติ ต้องถือปฏิบัติตลอดชีวิต ผลประโยชน์ที่จะได้กรณียังมีชีวิตอยู่คือ สุขภาพแข็งแรง ไม่เสียทรัพย์ ไม่เสียชื่อเสียง คนนับถือ มีความคิดอันเฉียบคม ไม่ขาดสติอันเป็นเหตุให้ทำอะไรโง่ๆ หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีๆ มีมนุษย์และสวรรค์ เป็นต้น

ข้อแตกต่างระหว่างประกันภัยทั่วไปกับพุทธประกันภัย คือ
ประกันภัยทั่วไป ผู้เอาประกันต้องลงทุนจ่ายทรัพย์ทุกเดือนต่อเนื่องหลายปี และต้องทำตามระเบียบที่ทางบริษัทกำหนดว่าต้องจ่ายเงินจำนวนเท่านั้นบาท ระยะเวลากี่ปี และห้ามทำอะไรบ้าง จึงจะได้รับผลประโยชน์
ส่วนพุทธประกันภัยต้องลงมือกระทำ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีกำหนดปีที่ทำ ทำเท่าไหร่ก็ได้รับประกันภัยเท่านั้น ถ้าหยุดทำก็หยุดรับผลประโยชน์
พุทธประกันภัย ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของบริษัทได้การันตีไว้ว่า ถ้าทุกคนทำประกันภัยกับบริษัทพุทธประกันภัย จะได้ประโยชน์คือความสงบเย็นเป็นสุขแก่ตัวผู้ทำเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก โดยจะได้รับประโยชน์หลักๆ ดังนี้
๑.ทำให้พบเจอเพื่อนที่ดี สังคมที่ดี
๒. ทำให้เจริญรุ่งเรืองร่ำรวย
๓. ทำให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายเองว่าจะทำประกันกับบริษัทพุทธประกันภัยหรือไม่ ถ้าอยากทำ วิธีทำก็ไม่ยาก โดยมีวิธีทำง่ายๆ ๒ วิธี คือ
๑.ตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าว่า จะทำประกันภัยกับพระองค์ด้วยการปฏิบัติตามระเบียบประกันภัยทั้ง ๕ ข้อ
๒.ไปที่วัดใกล้บ้านแล้วกล่าวคำสมาทานประกันภัยต่อหน้าพระสงฆ์ โดยมีพระภิกษุเป็นสักขีพยานด้วยการปฏิบัติตามระเบียบทั้ง ๕ ข้อinsurance

Leave a comment