การให้และสงคราม

การให้และสงคราม

            ก่อนจะให้พรเป็นภาษาบาลี ขอให้พรเป็นภาษาไทยก่อน อนุโมทนาบุญกับญาติโยมที่เสียสละนำข้าวปลาอาหารมาถวาย พระสงฆ์ไม่อะไรจะเป็นปฏิการะน้ำใจ นอกจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักของชีวิต ในการดำเนินชีวิตให้ดีงามมีความสุข เมื่อวานนี้พูดเรื่องบุญในทางพระพุทธศาสนา บุญถือว่าเป็นคำสำคัญ

บุญคืออะไร บุญ คือ ความดี ความสุข และการชำระ เมื่อเราทำบุญก็การทำความดี ทำให้เรามีความสุข และช่วยชำระจิตใจของเราให้ปลอดกิเลส โดยเฉพาะความหมายที่ ๓ ที่บอกว่าบุญคือการชำระ ท่านเปรียบว่า บุญนี้เหมือนกับน้ำชำระ ชำระอะไร ชำระสิ่งสกปรกที่อยู่ในใจของเรานี้ สิ่งสกปรกคืออะไร คือกิเลส ได้แก่ โลภ โกรธ หลง อย่างการทำบุญด้วยการให้ทานนี้ถือว่าเป็นการชำระความตระหนี่ ภาษาพระท่านเรียกว่า มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว เรามาเสียสละให้ได้ถือว่าเป็นการชำระความตระหนี่ออกไปจากใจของเรา

วันนี้จะพูดเรื่องบุญกิริยาวัตถุซึ่งว่าด้วยวิธีการทำบุญ การทำบุญนั้นทำได้กี่วิธี โดยย่อท่านกล่าวไว้ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา โดยพิสดารท่านพรรณนาขยายออกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่วันนี้จะขอกล่าวเฉพาะเรื่องทาน การทำบุญด้วยการให้ทาน ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจคำว่า ทานก่อน เพราะทุกวันนี้มีคนเข้าใจผิดและมักพูดว่า วันนี้ฉันไปทำบุญถวายเพลที่วัด มีอาหารเหลือจากถวายพระ ระหว่างทางกลับบ้านเจอคนยากจนก็เลยให้ทานเขาไป คนทุกวันนี้ใช้ศัพท์และความหมายผิดคิดว่า การทำบุญหมายถึงทำกับพระสงฆ์องค์สามเณร แต่การให้ทานนี้หมายถึงให้กับคนยากจน คนขอทาน หรือคนต่ำต้อยกว่าตน ที่จริงแล้วการให้หรือทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง เราจะให้แก่ใครก็แล้วแต่ ให้แก่พระสงฆ์ คนทั่วไป หรือให้กับสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ผลบุญมากน้อยต่างกัน ถ้าให้กับคนดีมีคุณธรรมจะได้บุญมากกว่า เพราะอะไร เพราะคนดีเวลาเขากินอาหารที่เราให้ไป เขาก็ได้กำลังและไปทำความดีต่อไป เราจึงได้บุญเยอะ แต่ถ้าเราให้สัตว์เดรัจฉานนี้ บางทีสัตว์เดรัจฉานเข้าอยู่ด้วยสัญชาตญาณ เช่น เราให้สุนัขจรจัด สุนัขอาจจะไปกัดคนอย่างนี้ จึงอาจจะได้บุญน้อยกว่าให้กับคน ฉะนั้น คำว่า ทาน ก็คำหนึ่ง คำว่าบุญก็คำหนึ่ง และการให้ทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง

การให้ทานมีอยู่ ๓ แบบ คือ การให้เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ การให้คำแนะนำพร่ำสอน และการให้อภัยไม่ถือโทษโกรธกัน

– การให้แบบสงเคราะห์อนุเคราะห์ คือ การให้ปัจจัย ๔ มี เสื้อผ้า อาหาร ที่พัก และยารักษาโรคเป็นต้น นอกจากนั้นการให้สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างอื่นอีก อย่างเวลาเขาเดือดร้อนเป็นต้นว่า น้ำท่วม เราก็ส่งเงิน เสื้อผ้า อาหารไปช่วย เรียกรวมๆ ว่า ให้วัตถุสิ่งของ

– การให้คำแนะนำ คือ การอยู่ด้วยกันนี้ เป็นครอบครัว สังคม และประทศชาติ ถ้าไม่มีการให้คำแนะนำสั่งสอนนี้ บางทีเราทำไปโดยไม่รู้ตัวว่า ถูกหรือผิด คนอื่นเป็นเหมือนกระจกให้เราได้เห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของตนเอง การให้คำแนะนำสั่งสอนนี้เป็นบุญอย่างหนึ่ง อย่างเราเห็นเพื่อนไปทำไม่ดีก็เตือนเพื่อนว่า เอ้อไม่น่าจะทำแบบนี้นะ เช่น นั่งรถไปด้วยกัน ถ้าเพื่อนขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนดไว้ก็บอกเพื่อน  เหมือนเราให้สติเพื่อน ถ้าสูงขึ้นไปอีก คือ การแนะนำพร่ำสอนให้เข้าใจในเรื่องสัจธรรมความจริงของชีวิตที่เรียกว่า “ธรรมทาน”  ยิ่งประเสริฐสุด เพราะทำให้หมดทุกข์ได้

การให้อภัย คือ การไม่ถือโทษโกรธกัน ธรรมดาการอยู่ร่วมกัน ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ไม่มากก็น้อยเหมือนลิ้นกับฟัน ถ้าไม่รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ก็อยู่ด้วยกันลำบาก ดังนักประพันธ์เขียนไว้ว่า

เมื่อไม่มีการให้อภัยผิด              และไม่คิดจะลืมซึ่งความหลัง

                        จะหาความสามัคคียากลำบากจัง           ความพลาดพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวคนฯ

คนอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่รู้จักให้อภัยกัน ก็อึดอัดลำบาก อยู่อย่างไม่มีความสุข อยู่บ้านเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน เดินผ่านกันยังไม่คุยกัน บางทีเจอหน้ากันก็ทำเป็นไม่เห็น อันนี้มันก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น บ้านก็เป็นนรก ที่ทำงานก็เป็นนรก มันอึดอัด เดือดร้อน วุ่นวาย สับสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆ่าความโกรธเสียได้ อยู่เป็นสุข(ยืน เดิน นั่ง นอน = สุข)

การให้ทาน ควรพยายามทำให้ครบทั้ง ๓  แบบ เพราะแต่ละแบบนั้นเป็นการฝึกฝนพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการให้แบบอนุเคราะห์ ทั้งการให้คำแนะนำ ทั้งการให้อภัย อันนี้เราก็พยายามตลอดให้กลายเป็นนิสัยความเคยชินที่ดี

มีสุภาษิตฝรั่งกล่าวไว้คล้ายๆ กับพระพุทธภาษิตว่า The more you give, the more you get. แปลว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ที่ว่าได้ อาจจะมองได้หลายแง่ คือ ได้ความรักความเอ็นดูจากคนรอบข้าง  อีกอย่างเป็นการฝึกการเสียสละด้วย เพราะว่าการให้สามารถทำให้สังคมอยู่ได้ และการให้เป็นเรื่องลำบากทำยาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้และการทำสงครามเสมอกัน ลองคิดดูนะก่อนที่เราจะให้อะไรใครได้ จิตใจเรามันขัดแย้งกัน ถ้าใครเคยดูหนังสไปเดอร์แมนมีอยู่ภาคหนึ่ง มีสไปเดอร์แมน ๒ ตัว คือ ตัวดำ กับตัวแดง ตัวดำนี้ไม่ดีเปรียบเหมือนจิตใจฝ่ายต่ำ ส่วนตัวแดงนี้ดีเหมือนจิตใจฝ่ายสูง มันสู้กัน บางทีเวลาที่เราจะให้วัตถุสิ่งของ ให้คำแนะนำ หรือให้อภัย จิตใจเรามันจะสู้กัน ให้ดีหรือไม่ให้ดี ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวมันจะสู้กัน ถ้าฝ่ายดีชนะก็สามารถให้ได้

ในสมัยพุทธกาลมีพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก อยู่กับภรรยาหนึ่งคน เป็นคนยากจน แต่ว่ามีความศรัทธาอยากไปฟังเทศน์ที่วัด การจะออกไปข้างนอกเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเปลี่ยนกันออกไป เพราะมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียว ต้องนัดแนะกันว่า ตาออกไปตอนเย็นนะ เดี๋ยวฉันจะออกไปตอนบ่าย คือพอพราหมณ์ออกไปก็ห่มผ้าผืนนั้นออกไปฟังเทศน์ ถ้าภรรยาออกไปก็เอาผ้าผืนนั้นห่มออกไป มีอยู่วันหนึ่งพราหมณ์ออกไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยความยากจนไม่รู้จะเอาอะไรถวายพระพุทธเจ้า มองเห็นผ้าอยู่ผืนเดียวที่ตัวเองห่มก็คิดว่าจะถวายผ้าพระพุทธเจ้า ในขณะที่คิดอยู่ จิตใจฝ่ายหนึ่งก็โต้แย้งขึ้นมาว่า ถ้าถวายผ้าผืนนี้กลับบ้านถูกภรรยาดุแน่ มีผ้าอยู่ผืนเดียวดันไปถวายพระพุทธเจ้าแล้วจะเอาอะไรใช้ จิตใจของแกก็สู้กันอยู่อย่างนั้นระหว่างกุศลจิตกับอกุศลจิตผ่านไปตั้งหลายชั่วโมง เลยตัดสินใจ เอาวะเป็นไงเป็นกัน รีบลุกเอาไปถวายเลย พอถวายเสร็จแกอุทานเลยว่า ชิตัง เม ชิตัง เม เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว

พระราชาได้ยินก็เลยถามพวกอำมาตย์ว่า ใครบอกว่าเราชนะแล้ว พอรู้ทีหลังว่า เราชนะแล้ว หมายถึงชนะความตระหนี่ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การให้ทานเปรียบด้วยการทำสงคราม คือ การทำสงครามในใจของเราเอง

นี้เป็นวิธีทำบุญด้วยการให้ เป็นการฝึกฝนการเสียสละ และความไม่เห็นแก่ตัวให้เกิดมีขึ้นในจิตใจของเรา กล่าวอนุโมทนามาพอสมควรแก่เวลา ต่อไปก็ตั้งใจกวาดน้ำรับพร เป็นภาษาบาลีสืบต่อไป

Leave a comment